เลนส์ Wide คืออะไร (Wide angle lenses)



สวัสดีครับเพื่อนๆ ทุกท่านครับ เจอกันอีกบทความที่เกี่ยวกับกล้อง DSLR ครับ สำหรับวันนี้เรามาทำความรู้จักกับเลนส์กันครับ และบทความนี้ขอเสนอ เลนส์มุมกว้างหรือ ที่เราได้ยินคุ้นหูกันคือ เลนส์ไวด์ ภาษาอังกฤษ ก็คือ Wide angle lenses  ครับ นั่นเองครับ

เลนส์ Wide (Wide angle lenses) หรือเลนส์มุมกว้าง ก็คือเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสต่ำกว่า 35 มม. ลงมา เช่น เลนส์ฟิก 24 มม. หรือ ฟิก 16 มม. หรือ ฟิก 18 มม. หรือซูม 10-22 มม. เป็นต้น เลนส์ประเภทนี้มีองศาการรับภาพ หรือมุมมองที่กว้างกว่าสายตาของคน นะครับ ซึ่งเลนส์ที่มีองศาการรับภาพใกล้เคียงกับสายตาของคนเราคือเลนส์ทางยาวโฟกัส 50 มม. หรือเรียกว่าเลนส์นอมอล (Normal)

สำหรับภาพที่ได้จาก เลนส์ Wide  จะมีองศากว้างมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับทางยาวโฟกัสของเลนส์เป็นหลักครับ ยิ่งทางยาวโฟกัสต่ำกว่า 50 มม. เท่าใด ภาพที่ถ่ายออกมาก็จะมีองศาที่กว้างมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย  จำกันง่ายๆ คือ ตัวเลขยิ่งน้อยก็ยิ่งกว้าง  แต่ก็จะส่งผลกับภาพด้วยนะครับ ยิ่งน้อยกว่า 50 มม. มากเท่าใดความปิดเบี้ยวของภาพก็จะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ

ประโยชน์ของเลนส์ Wide  หรือ เลนส์มุมกว้าง

เลนส์ Wide  นิยมใช้ในการถ่ายภาพวิวทิวทัศน์เพื่อเก็บรายละเอียดในมุมที่กว้างมากที่สุดนั่นเอง หรือไม่ก็มีประโยชน์การถ่ายภาพในสถานที่แคบ ๆ ซึ่งไม่สามารถจะถอยหลังเพื่อเก็บภาพให้หมด โดยการใช้เลนส์ธรรมดาได้ ปัญหาเช่นนี้จะหมดไปเมื่อคุณมีเลนส์มุมกว้างหรือเลนส์ Wide ติดกระเป๋ามาด้วย โดยเลนส์ชนิดนี้จะสามารถเก็บภาพได้โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ห่างจากตัวแบบมากนัก

ลักษณะพิเศษของเลนส์ไวด์หรือเลนส์มุมกว้าง

ภาพถ่ายที่ได้จะมีความชัดลึกที่สูง ซึ่งก็คือมีความชัดตั้งแต่วัตถุที่อยู่ไกล้เลนส์ไปจนถึงฉากหลังที่ห่างออกไป นั่นเอง แต่ทว่าภาพที่ได้ก็อาจจะมีความบิดเบือนหรือบิดเบี้ยวไปจากที่สายตาของเราที่มองเห็น เช่น วัตถุในภาพจะดูเล็กลงไปและดูเหมือนกับว่ามันอยู่ห่างออกไปไกลกว่าปกติที่สายตาคนเรามองเห็น และผลอีกอย่างก็คือบริเวณขอบของภาพจะดูโค้งๆ ไป

ข้อควรจำ ยิ่งถ้าเลนส์มีมุมกว้างมากขึ้นเท่าใดก็จะเห็นความบิดเบือนมากขึ้นเท่านั้น

สำหรับเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสสั้นมาก ๆ เช่น 10 มม. เราจะเรียกว่าเป็นเลนส์ Untra Wide-angle lens หรือมุมกว้างพิเศษ และนอกจากเลนส์พิเศษที่กล่าวมา ก็ยังมีเลนส์มุมกว้างแบบพิเศษเข้าไปอีก ซึ่งจะให้องศาการรับภาพได้กว้างถึง 180 องศาเลยทีเดียว และภาพถ่ายที่ได้ก็จะเป็นวงกลม  ซึ่งในวงการกล้อง จะเรียกเลนส์ชนิดนี้ว่า เลนส์ตาปลา (Fisheye lens)


ไม่มีความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.